หน่วยที่ 5
การออกแบบการเรียนการสอน
การออกแบบระบบการเรียนการสอน (Instructional System Desig) มีชื่อเรียกหลากหลาย เช่น
การออกแบบการเรียนการสอน (Instructional Design) การออกแบบและพัฒนาการสอน (Instructional Design and Developmen) เป็นต้น ไม่ว่าชื่อจะมีความหลากหลายเพียงใด แต่ชื่อเหล่านั้นก็มากจากต้นตอเดียวกัน คือ มาจากแนวคิดในการใช้กระบวนการของวิธีระบบ (System Approach) (ฉลอง, 2551)
แนวคิดของวิธีระบบ ถือได้ว่าเป็นรากฐานของระบบการเรียนการสอน โดยเฉพาะความเชื่อที่ว่า ระบบจะประกอบด้วยองค์ประกอบต่าง ๆ ที่ทำงานสัมพันธ์กัน และระบบสามารถปรับปรุง ปรับทิศทางของตนเองได้ จากการตรวจสอบจากข้อมูลป้อนกลับ (Feedback)
วิธีระบบถูกนำมาใช้ในระบบการศึกษาและได้รับการพัฒนา ปรับปรุงขึ้นเป็นลำดับ โดยได้มีผู้พัฒนารูปแบบการสอน (Model) ขึ้นหลากหลายรูปแบบ รูปแบบเหล่านี้เรียกชื่อว่า ระบบการออกแบบการเรียนการสอน (Instructional Design Systems) หรือเรียกสั้นลงไปอีกว่า การออกแบบการเรียนการสอน (Instructional Design)การออกแบบการเรียนการสอนจะประกอบด้วยองค์ประกอบที่เป็นขั้นตอนต่าง ๆ ที่อาศัยหลักการและทฤษฎีสนับสนุนจากองค์ความรู้และการวิจัยทางการศึกษาจนถึงปัจจุบัน นักการศึกษาได้พัฒนารูปแบบการเรียนการสอน (Instructional Model) ขึ้นมากกว่า 50 รูปแบบ
รูปแบบเหล่านี้ได้รับการตรวจสอบ ทดสอบและการปรับปรุงมาแล้วก่อนที่จะเป็นรูปแบบที่สมบูรณ์
ที่เชื่อได้ว่า ถ้านำไปใช้แล้วจะทำให้ประสิทธิผลและประสิทธิภาพในการสอนอย่างสูงสุด
ทิศนา (2548) ได้กล่าวว่า รูปแบบการสอน/รูปแบบการเรียนการสอน(Teaching/Instructional Model) คือแบบแผนการดำเนินการสอนที่ได้รับการจัดระบบอย่างสัมพันธ์กับทฤษฎี/หลักการเรียนรู้หรือการสอนที่รูปแบบนั้นยึดถือ และได้รับการพิสูจน์ ทดสอบว่ามีประสิทธิภาพ สามารถช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามจุดมุ่งหมายเฉพาะของรูปแบบนั้น ๆ โดยทั่วไปแบบแผนการดำเนินการสอนดังกล่าว มักประกอบด้วยทฤษฎี/หลักการที่รูปแบบนั้นยึดถือและกระบวนการสอนที่มีลักษณะเฉพาะอันจะนำไปสู่จุดมุ่งหมายเฉพาะที่รูปแบบนั้นกำหนด ซึ่งผู้สอนสามารถนำไปใช้เป็นแบบแผนหรือเป็นแบบอย่างในการจัดและดำเนินการสอนอื่น ๆ ที่มีจุดมุ่งหมายเฉพาะเช่นเดียวกันได้
ทฤษฎีสร้างความรู้นิยม (Constructivism)
ความหมายของทฤษฎีสร้างความรู้นิยม ได้มีผู้ให้ความหมายและชื่อของทฤษฎีConstructivism ไว้แตกต่างกัน ดังนี้
ทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเอง (Constructivism) เป็นการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนลงมือกระทำในการสร้างความรู้มากกว่าเป็นผู้รับการถ่ายทอดความรู้จากครูผู้สอน(สุภนิดา, 2553)
ทฤษฎีการเรียนรู้พุทธิปัญญานิยม (Constructivism Approach)มีหลักที่สำคัญเกี่ยวกับการสอน การเรียนรู้คือนักเรียนจะต้องสร้างความรู้ (Knowledge) ขึ้นในใจเอง ครูเป็นแค่เพียงผู้ช่วยหรือเข้าใจในกระบวนการนี้โดยหาวิธีการจัดการข้อมูลข่าวสารให้มีความหมายแก่นักเรียน หรือให้โอกาสนักเรียนได้มีโอกาสค้นพบด้วยตนเอง นอกจากนี้จะต้องสอนศิลปะการเรียนรู้ให้แก่นักเรียน นักเรียนจะต้องเป็นผู้ลงมือกระทำเองไม่ว่าครูจะใช้วิธีสอนอย่างไร (สุรางค์, 2541)
ทฤษฎีการเรียนรู้แบบสรรคนิยม (Constructivism) ทฤษฎีการสร้างความรู้ว่าด้วยผู้เรียนสามารถสร้างสรรค์ความรู้ขึ้นได้เอง การเรียนรู้เป็นกระบวนการทางสติปัญญาของบุคคลในการสร้างความรู้และความหมายของสิ่งต่าง ๆ ที่ตนได้รับ ผ่านกระบวนการซึมซับ (Assimilation) คือการนำข้อมูลหรือความรู้ใหม่ที่ได้รับไปเชื่อมโยงอย่างกลมกลืนกับโครงสร้างความรู้ที่ตนมีอยู่ และการปรับกระบวนการการรู้คิด (Accommodation) คือการคิดค้นหาวิธีการต่าง ๆ มาใช้ในการสร้างความเข้าใจจนเกิดเป็นความรู้ที่มีความหมายต่อตนเอง ดังนั้นการเรียนรู้จึงเป็นกระบวนการภายในที่แต่ละบุคคลต้องเป็นผู้สร้างด้วยตนเองและสามารถทำได้ดียิ่งหากได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือจากที่อื่น (ราชบัณฑิตสถาน, 2551)
นิรมิตนิยม (Constructivism) (นิรมิต แปลว่า สร้าง) สรุปไว้ว่า“นิรมิตนิยมเชื่อว่า ความรู้ ก็คือสิ่งที่ผู้เรียนรับรู้และเข้าใจ ซึ่งขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของเขา ขึ้นอยู่กับการแปลความหมายของเขา เราไม่สามารถจะถ่ายทอดความรู้จากการสอนโดยตรง แต่เด็กจะต้องค้นพบความรู้ด้วยตัวของเขา ซึ่งก็หมายความว่าเด็กต้องสร้าง (Construct) ความรู้ขึ้นด้วยตัวของเขาเอง การสร้างความรู้นั้นก็มีหลักการว่า ต้องเรียนความรู้จากบริบทที่แวดล้อมอยู่ ต้องเรียนจากการทำจริงปฏิบัติจริงจากสถานการณ์ที่เป็นจริง ครูยังมีบทบาทสำคัญ ไม่ใช่ฐานะผู้สอนแต่เป็นผู้อำนวยความสะดวก เด็กต้องมีอิสระที่จะเลือก ที่จะเรียน เด็กต้องเรียนรู้ด้วยตนเอง เพื่อนนักเรียนด้วยกันมีส่วนร่วมที่จะส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ ฯลฯ
หลักการต่าง ๆ เหล่านี้จะช่วยให้เด็กสามารถนิรมิต (Construc) ความรู้ใหม่ (สำหรับตัวเขา) ขึ้นได้” (สุนทร, 2540)
ทฤษฎีการสร้างความรู้นิยม (Constructivism)เป็นทฤษฎีที่เน้นบทบาทของความรู้พื้นฐานและความเข้าใจในปัจจุบันของผู้เรียนในการเรียนรู้หรือสร้างข้อมูลอย่างมีความหมาย นักทฤษฎีสร้างความรู้นิยม เน้นความสำคัญของความเข้าใจปัจจุบัน และเห็นว่าการเรียนรู้ใหม่เกิดจากการแปลความหรือตีความจากความเข้าใจภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน ไม่ใช่ข้อมูลเดี่ยวแต่เป็นการเชื่อมสัมพันธ์กับความรู้ที่มีในภายหลัง (ณมน, 2549)
สรุปได้ว่า ทฤษฎี Constructivismเป็นทฤษฎีที่ผู้เรียนจะต้องจัดกระทำข้อมูลและเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่เป็นการปฏิสัมพันธ์ภายในสมองและยังเป็นกระบวนการทางสังคมอีกด้วย ซึ่งในงานวิจัยนี้เรียกว่าทฤษฎีสร้างความรู้นิยม
หลักการที่สำคัญในการเรียนรู้ผู้เรียนจะต้องเป็นผู้กระทำ (Active) และสร้างความรู้ ความเชื่อพื้นฐานของทฤษฎีสร้างความรู้นิยม มีรากฐานมาจาก 2 แหล่ง คือ ทฤษฎีการสร้างความรู้มีรากฐานมาจากทฤษฎีการสร้างเชาว์ปัญญาของ Piajet และ Vygotsky ซึ่งอธิบายว่า โครงสร้างทางสติปัญญา (Scheme) ของบุคคลมีการพัฒนาผ่านทางกระบวนการดูดซับหรือซึมซับ (Assimilation)
และกระบวนการปรับโครงสร้างทางสติปัญญา (Accommodation) เพื่อให้บุคคลอยู่ในภาวะสมดุล (Equilibrium) ซึ่ง Piajet เชื่อว่าทุกคลจะมีพัฒนาการตามลำดับขั้นจากการมีปฏิสัมพันธ์และประสบการณ์กับสิ่งแวดล้อมและสังคม ส่วน Vygotsky ให้ความสำคัญกับวัฒนธรรม สังคม และภาษามากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับ สุรางค์ (2544) ได้กล่าวว่า พื้นฐานของทฤษฎีสร้างความรู้นิยม มีรากฐานมาจาก 2 แห่ง คือ ทฤษฎีพัฒนาการของ Piajet และ Vygotsky คือ
ทฤษฎีสร้างความรู้นิยมเชิงปัญญา (Cognitive Constructivism)หมายถึงฐานรากมาจากทฤษฎีพัฒนาการของ Piajet ทฤษฎีนี้ถือว่าผู้เรียนเป็นผู้กระทำ (Active) และเป็นผู้สร้างความรู้ขึ้นในใจเอง ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมมีบทบาทในการก่อให้เกิดความไม่สมดุลย์ทางพุทธิปัญญาขึ้นเป็นเหตุให้ผู้เรียนปรับความเข้าใจเดิมที่มีอยู่ให้เข้ากับข้อมูลข่าวสารใหม่จนกระทั่งเกิดความสมดุยล์ทางพุทธิปัญญา หรือเกิดความรู้ใหม่ขึ้น
ทฤษฎีสร้างความรู้นิยมเชิงสังคม (Social Constructivism) เป็นทฤษฎีที่มีพื้นฐานมาจากทฤษฎีพัฒนาการของ Vygotsky ซึ่งถือว่าผู้เรียนสร้างความรู้ด้วยการมีปฎิสัมพันธ์ทางสังคมกับผู้อื่น (ผู้ใหญ่หรือเพื่อน) ในขณะที่ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมหรืองาน ในสภาวะสังคม (Social Context)ซึ่งเป็นตัวแปรที่สำคัญและขาดไม่ได้ ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมทำให้ผู้เรียนสร้างความรู้ด้วยการเปลี่ยนแปรความเข้าใจเดิมให้ถูกต้องหรือซับซ้อนกว้างขึ้น
สรุปได้ว่า Piajet เน้นการเรียนรู้เกิดจากปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมและให้ความสำคัญกับความรู้เดิม ในขณะที่แนวคิดของ Vygotsky เน้นการเรียนรู้ว่าเกิดจากปฏิสัมพันธ์ทางสังคม
ทฤษฎีการเรียนรู้โดยการค้นพบของ Bruner Jerome Bruner เป็นนักจิตวิทยาแนวพุทธิปัญญา ที่เน้นที่พัฒนาการเกี่ยวกับความสามารถในการรับรู้และความเข้าใจของผู้เรียนประกอบกับการจัดโครงสร้างของเนื้อหาที่จะเรียนรู้ให้สอดคล้องกันและได้เสนอทฤษฎีการสอน (Theory of Instruction)